ความเป็นมา วันระลึกถึงผู้ล่วงลับ
คนต่างศาสนาในสมัยโบราณกำหนดวันที่แน่นอนในการระลึกถึงผู้ล่วงลับ ตัวอย่างเช่นชาวโรมันกำหนดวันให้เกียรติแก่ญาติพี่น้องผู้ล่วงลับระหว่างวันที่ 13-22 กุมภาพันธ์ คริสตชนไม่ได้ถือตามธรรมเนียมของชาวโรมัน
เพราะเข้ากันไม่ได้กับความเชื่อของคริสตชน ในศตวรรษที่สองเราจึงได้เห็นรูปแบบที่ชัดเจนของการระลึกถึงผู้ล่วงลับของคริสตชน การระลึกถึงประกอบด้วยการภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับ และตามด้วยพิธี
มิสซา เริ่มแรกคริสตชนประกอบพิธีระลึกถึงผู้ล่วงลับในวันที่ 3 หลังจากพิธีฝังศพ และในวันครบรอบหนึ่งปีแห่งการจากไปของผู้ล่วงลับ
หลังจากนั้นได้เพิ่มวันที่ 7 วันที่ 30 และวันที่ 40 หลังจากการจากไปของผู้ล่วงลับ เป็นวันที่จะสวดภาวนา และถวายมิสซาให้แก่ผู้ล่วงลับ
เราพบความคิดที่จะกำหนดให้มีวันหนึ่งในรอบปี เพื่อระลึกถึงบรรดาวิญญาณของผู้ล่วงลับเป็นครั้งแรก โดยพระสังฆราชอิสิดอร์แห่ง
เซวิลล์ (ประมาณ ค.ศ. 636) ท่านได้สั่งให้นักพรตของท่านถวายมิสซาให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับในวันจันทร์หลังจากวันสมโภชพระจิตเจ้า
นักบุญโอติโล แห่งคลูนี ได้ริเริ่มการภาวนาอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระ (Purgatory) ในปี ค.ศ. 998 ท่านสอนนักพรตเบเนดิกตินให้ถวายมิสซาและภาวนาแด่ผู้ล่วงลับ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน
วันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณในไฟชำระนี้เผยแผ่ไปอย่างรวดเร็วที่ประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมัน ใน ศตวรรษที่ 13 พระศาสนจักรที่อิตาลี เป็นต้นที่กรุงโรมได้รับวันที่ 2 พฤศจิกายน เป็นวันภาวนาอุทิศแก่วิญญาณผู้ล่วงลับ
ในตอนปลายศตวรรษที่ 15 นักพรตคณะโดมินิกันที่เมืองวาเลนเซียในประเทศสเปน ได้ริเริ่มธรรมเนียมที่พระสงฆ์ถวายมิสซา 3 มิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับ
พระสันตะป าปาเบเนดิกต์ที่ 14 ในปี ค.ศ. 1748 ได้ให้สิทธิการถวายมิสซา 3 มิสซาในวันที่ 2 พฤศจิกายน แก่พระสงฆ์ในประเทศ สเปน โปรตุเกส และละตินอเมริกา ตั้งแต่ ค.ศ. 1915 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15
อนุญาตให้พระสงฆ์ทุกองค์ถวายมิสซาในวันระลึกถึงผู้ล่วงลับได้ 3 มิสซา โดยมิสซาแรกถวายตามจุดประสงค์เฉพาะของพระสงฆ์ผู้ถวายมิสซา มิสซาที่สองถวายเพื่อดวงวิญญาณในไฟชำระทุกดวง
และมิสซาที่สามถวายตามพระประสงค์ของพระสันตะปาปา
พิธีกรรมของวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
ในพิธีมิสซาพระสงฆ์สวมอาภรณ์สีม่วง ซึ่งให้ความหมายถึงการใช้โทษบาปและความหวังในการกลับคืนชีพ (สีม่วงเป็นสีที่ใช้ในพิธี
ปลงศพผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีอายุรู้ความแล้ว)
พิธีกรรมในวันนี้เน้นที่การสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ธรรมล้ำลึกปัสกา)
เป็นความหวังของวิญญาณผู้ล่วงลับ ที่จะกลับคืนชีพพร้อมกับองค์พระเยซูเจ้า ดังนั้น เพลงที่ใช้ในพิธีกร รมจึงต้องเป็นเพลงที่แสดงถึงความเชื่อ และความหวังในการกลับคืนชีพ มากกว่าความเกรงกลัวในการพิพากษาของพระเจ้า
บทอ่าน บทภาวนา และบทเพลงของมิสซาในวันนี้ทั้ง 3 มิสซา เน้นที่ความเชื่อในการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า (ธรรมล้ำลึกปัสกา) และการภาวนาเพื่อผู้ล่วงลับจะได้มีส่วนใน
ธรรมล้ำลึกปัสกาของพระเยซูเจ้า ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากมิสซาวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับแบบที่ 1
เพลงเริ่มพิธี ซึ่งนำมาจากพระคัมภีร์ กล่าวอย่างชัดเจนถึงความเชื่อว่าผู้ล่วงลับจะกลับคืนชีพเพราะพระเยซูเจ้า “เราเชื่อว่าพระเยซูเจ้า สิ้นพระชนม์และทรงกลับคืนพระชนมชีพ
เราจึงเชื่อว่าพระเจ้าจะทรงนำบรรดาผู้หลับอยู่มากับพระองค์ โดยทางพระเยซูเจ้าเช่นเดียวกัน
มนุษย์ทุกคนตายเพราะอาดัมฉันใด มนุษย์ทุกคนก็จะกลับมีชีวิตเพราะพระคริสตเจ้าฉันนั้น” (1ธส 4:14; 1คร 15:22) ด้วยความเชื่อเช่นนี้
เราจึงพร้อมใจกับพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี ในบทภาวนาของประธานโดยภาวนาว่า “เมื่อข้าพเจ้าทั้งหลายภูมิใจที่ได้เชื่อว่าพระบุตรทรง
กลับคืนพระชนมชีพแล้ว ขอโปรดให้มีความหวังอย่างมั่นคงว่า บรรดาสัตบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วจะกลับคืนชีพด้วย”
นอกจากพระวาจาของพระเจ้าจะให้ความหวังในการกลับคืนชีพของผู้ล่วงลับแล้ว พระวาจาของพระเจ้ายังให้ความมั่นใจแก่เราว่า
พระเจ้าทรง รักและเอาใจใส่ดูแลชีวิตของพวกเราเสมอ บทอ่านที่หนึ่งจากจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโรม (รม 8:14-23) แสดงความหวังในพระเจ้าว่า “สรรพสิ่งยังมีความหวังว่า จะได้รับการปลดปล่อยจาก
การเป็นทาสของความเสื่อมสลาย เพื่อไปรับอิสรภาพอันรุ่งเรืองของ
บรรดาบุตรของพระเจ้า” บทสดุดีที่ 23 กล่าวถึงพระเจ้าทรงรักและดูแลเราเหมือนนายชุมพาบาลที่ดีดูแลฝูงแกะ บทสดุดีนี้ยังให้ความมั่นใจ
แก่เราว่า พระกรุณาและความรักมั่นคงของพระองค์จะติดตามเราไปทุกวันตลอดชีวิต พระวรสาร (ยน14:1-6)กล่าวถึงเมืองสวรรค์ว่าเป็นบ้านของพระบิดาของเรา และพระเยซูเจ้าทรงกำลังเตรียมที่ในเมืองสวรรค์ให้กับพวกเรา
ในบทภาวนาหลังรับศีลเราภาวนาว่า “โปรดให้บรรดาสัตบุรุษผู้ล่วงลับซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายได้กระทำพิธีระลึกถึงธรรมล้ำลึกปัสกาอุทิศให้ นี้ ได้เข้าสู่ที่พักสว่างไสว ร่มเย็นเป็นสุขกับพระองค์ด้วยเถิด”
พระคุณการุณย์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ พระศาสนจักรให้พระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับ สำหรับคริสตชนที่
1) ในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 1-8 พฤศจิกายน เมื่อคริสตชนไปเยี่ยมสุสาน หรือสวดภาวนาในใจเพื่อ
อุทิศแด่ผู้ล่วงลับ
2) ในวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ 2 พฤศจิกายน (หรือวันอาทิตย์ก่อนหรือหลังวันภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
หรือวันสมโภชนักบุญทั้งหลาย ตามแต่พระสังฆราชจะกำหนด) สำหรับคริสตชนที่ไปเยี่ยมที่วัดหรือ
วัดน้อยด้วยความศรัทธา และสวดบทข้าแต่พระบิดาและบทข้าพเจ้าเชื่อ ณ ที่นั้น
พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ พระศาสนจักรให้พระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์อุทิศแก่ผู้ล่วงลับสำหรับคริสตชนที่
1) ไปเยี่ยมสุสาน หรือสวดภาวนาในใจเพื่ออุทิศแด่ผู้ล่วงลับ ในวันอื่นที่นอกเหนือจากวันที่ 1-8 พฤศจิกายน
2) สวดทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็นสำหรับผู้ล่วงลับด้วยความศรัทธา หรือสวดว่า “ประทานการพักผ่อนนิรันดรแก่เขาเถิดพระเจ้าข้า”
เงื่อนไขการรับพระคุณการุณย์
1. มีเจตนาที่จะรับพระคุณการุณย์
2. สวดบท ข้าแต่พระบิดา และบทข้าพเจ้าเชื่อ อย่างศรัทธา
3. ปฏิบัติศาสนกิจ ดังนี้
- รับศีลอภัยบาป
- รับศีลมหาสนิท (จะรับศีลมหาสนิทภายหลังในช่วงเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็ได้)
- สวดภาวนาบท "ข้าแต่พระบิดา" และ"วันทามารีอา" หรือสวดบทภาวนาอื่นตามความศรัทธาของแต่ละคนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อพระ
ประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา
ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนพี่น้องทุกท่านให้ไปเยี่ยมสุสานที่หลุมศพของผู้ที่เราเคารพรัก ทำความสะอาดหลุมศพ ประดับด้วยดอกไม้
จุดเทียน และสวดภาวนาอุทิศแด่ผู้ล่วงลับเป็นพิเศษในโอกาสนี้
หมายเหตุ
1. คริสตชนจะรับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ได้วันละ 1 ครั้ง
2. คริสตชนอาจจะรับพระคุณการุณย์ไม่ครบบริบูรณ์ได้วันละหลายครั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.layapostlebkk.com/l037/l037.html
บทความโดย คุณพ่อเชษฐา ไชยเดช
1. หนังสือ “The Liturgical Year” โดย “Adolf Adam”
2. หนังสือ “Ceremonies of the Liturgical Year” โดย “Msgr. Peter J. Elliott”
3. หนังสือ “Order for the celebration of mass and the liturgy of the hours 2008-2009” หน้า 181
4. บทความเรื่อง “ธรรมเนียมอุทิศแด่ผู้ล่วงลับ” โดย พระสังฆราช วีระ อาภรณ์รัตน์