สะโลอ๊อหรือสะลา
สะโลอ๊อหรือสะลา
การเล่นสลาของชาวไทโส้นั้น เดิมเป็นพิธีกรรม และต่อๆ ปรากฎว่า นำมาเล่นในกลุ่มหนุ่มสาวและกลุ่มเด็ก มีการดัดแปลงรูปแบบการเล่นให้สอดคล้องกับกาลเวลา ทั้งนี้เพื่อความสนุกสนาน
หากแต่ยังคงเค้าของความเป็นประเพณีดั้งเดิมอยู่หลายประการ
สะโลอ๊อหรือสะลาเป็นพิธีกรรมของชาวโส้โบราณ ซึ่งพิธีกรรมนี้เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตชาวไทโส้
ในยุคอดีต อยู่สองประการ กับการบนบานหนึ่ง และกับความดีใจหนึ่ง
การเล่นสลากับการบนบานนั้น
ปัจจุบันค่อนข้างหาดูได้ยาก เพราะเป็นเรื่องของความเชื่อ เมื่อคนในบ้านหรือในเรือนนั้น ได้ทำล่วงเกินเจ้าที่ ผีนา เป็นเหตุให้คนในบ้านหรือในเรือนนั้นอยู่ไม่เป็นสุข ก็ต้องไปพึ่งหมอเลขหรือหมอธรรม หรือหมอผี ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเคารพนับถือ
ของคนในหมู่บ้าน หากหมอเลขหรือหมอธรรมดังกล่าวทายว่า ผิดจ้าวที่ ล่วงเกินจ้าวนา คนในบ้านนั้นหรือในเรือนนั้น
จะต้องไปทำการบนบานเอาไว้ เพื่อห้อาการดีขึ้นภายในสามวัน เจ็ดวัน หากหายก็จะทำการแก้ ตามบนบานเอาไว้
บางคราวก็ใช้บนบานกับสัตว์ สิ่งของ เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่หาย ขอให้ได้พบภายในสามวัน เจ็ดวัน เหมือนกัน
เมื่อครบวันที่กำหนดวันที่บนบานไว้ ปรากฎว่าอาการดีขึ้น ของที่หายพอทราบข่าวบ้าง ชาวไทโส้ก็จะทำการสะลาหรือสะโลอ๊อ
พิธีกรรมแบบบนบานนี้ เกี่ยวข้องกับสิ่งลี้ลับ เหนือความคาดหมาย เหนือธรรมชาติ ชาวไทโส้
มีความเชื่อว่า ผู้ที่จะทำการประกอบพิธีกรรม หรือจัดทำพิธีกรรมนี้ จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วย หรือสัตว์ สิ่ง
ของต้องหายก่อน จึงจะกระทำได้ พิธีกรรมนี้ จึงไม่นิยมประกอบพิธีให้คนทั่วไปได้เห็นนัก
การประกอบพิธีกรรมแบบบนบานของชาวไทโส้นี้ จะมีเหล้าหนึ่งไห กับไก่ที่ต้มสุกแล้วหนึ่งตัว เทียนห้าคู่ ดอกไม้ห้าคู่ ไม่มีการร้องรำทำเพลงหรือการเต้นรื่นเริงยินดี เพียงแต่นำของแก้บนบาน ไปประกอบพิธีสะโลอ๊อหรือสะลา
ณ จุดที่ล่วงเกินจ้าวที่ ผีนา เป็นอันเสร็จพิธี
พระนิพนธ์ โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากหอสมุดแห่งชาติ เรื่องเที่ยวที่ต่างๆ ภาคที่ 4 ว่าด้วยเที่ยวมณฑลนครราชสีมา มณฑลอุดรและมณฑลร้อยเอ็ด ครั้งนั้น
เมื่อตรวจราชการถึงเมืองกุสุมาลย์มณฑล ตอนหนึ่งความว่า “ เมื่อวันที่ 13 มกราคม ( 2450) 99
พระอรัญอาสา ผู้ว่าราชการเมืองกุสุมาลย์ กับกรมการกำนันผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรชายหญิง พากันมารับเป็นอันมาก
ชาวเมืองนี้เป็นข่า ที่เรียกว่ากะโซ้ เดิมมาจากเมืองมหาไชยกองแก้ว ผู้หญิงไว้ผมสูง แต่งตัวนุ่งซิ้น สวมเสื้อกระบอกย้อมคราม
ห่อผ้าแถบ ผู้ชายแต่งตัวอย่างคนชาวเมือง แต่เดิมว่านุ่งผ้าขัดเตี่ยว ไว้ชายข้างหน้าชายหนึ่ง ข้างหลังชายหนึ่ง
มีภาษาที่พูดคล้ายสำเนียงมอญ แล้วผู้ชายมีการเล่น เรียกว่าสะลา
คือมีหม้ออุ ตั้งกลาง แล้วคนต้นบทคนหนึ่ง คนสะพายหน้าไม้และลูกสำหรับยิง คนหนึ่ง คนตีฆ้องซึ่งเรียกว่าพะเนาะคนหนึ่ง
คนถือไม้ไผ่ท่อนสามปล้อง สำหรับกระทุ้งดินเป็นจังหวะ สองคน คนถือชามสองมือ สำหรับติดเทียนรำ คนหนึ่ง
คนถือก้นตะแกรงขาดสองมือ สำหรับรำคนหนึ่ง แล้วคนถือมีด ถือสิ่วหัก สำหรับเคาะจังหวะคนหนึ่ง รวมแปดคน
เดินร้องรำเป็นวงเวียนไปมา พอได้พักหนึ่ง ก็ดื่มอุ และร้องรำต่อไป ดูสนุกสนานกันเองไม่ใคร่อยากเลิก เวลาเลิกแล้ว
ก็ยังฟ้อนกันเรื่อย ตลอดทางไป ”
สะโลอ๊อหรือสะลาแบบดีใจ
พิธีกรรมนี้ ชาวไทโส้นิยมทำกันโดยทั่วไป เป็นการ แสดงออกถึงความยินดี ดีใจ การต้อนรับขวัญก็ได้ ต้อนรับเจ้านายใหญ่โตก็ได้
ผู้แสดงหรือประกอบพิธี ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอเลข หมอธรรม หรือหมอผี เพียงแต่ร้องรำได้ก็สามารถประกอบพิธีนี้ได้
เมื่อครั้งในอตีด จะทำการประกอบพิธีสะลาหรือสะโลอ๊อ โดยชาวไทโส้ที่เป็นพรานกับคณะ เมื่อครั้งไปล่าสัตว์ พอได้สัตว์มา
ก่อนจะนำกลับบ้าน และออกจากป่าถึงชายป่า คณะของนายพราน จะทำพิธี สะลา หรือ สะโลอ๊อ โดยเอาเครื่องมือของการล่าสัตว์
พร้อมสัตว์ที่ล่าได้ วางตรงกลาง นำสัวต์ที่ล่าได้ส่วนหนึ่งมาทำอาหารประกอบพิธีกรรม ส่วนเครื่องมือล่าสัตว์
ก็เอามาใช้ทำเป็นเครื่องดนตรี เอามาตี เอามาเคาะ ให้จังหวะตามผู้ร้องรำ สร้างความสนุกสนานให้กับนายพรานและคณะ เป็นยิ่งนัก
คำร้องที่ประกอบพิธีนั้นก็จะร้องบรรยาย ขอบคุณจ้าวป่า พร้อมขอขมาจ้าวที่ไ ปในตัว โดยจะเริ่มต้นร้องรำทำเพลงแล้วเดินรอบสัตว์
และเครื่องมือที่วางอยู่ตรงกลางเวียนซ้ายสามรอบ จากนั้นจึงหยุดดูอุหรือดูดไห ทุกๆ คนพร้อมทั้งกล่าวคำขอบคุณจ้าวป่า ขอขมาเจ้าที่ ไปในตัว
เมื่อดูดอุหรือดูดไหครบทุกคนแล้ว คณะนายพรานดังกล่าวก็จะเดินร้องรำทำเพลงว นรอบสัตว์และเครื่องมือล่าสัตว์ดังกล่าวย้อนเวียนขวาอีกสามรอบ
จากนั้นทุกคนจึงหยุดดูอุหรือดูดไหอีกครั้ง แล้วจึงนั่งล้อมวง นายพรานหรือผู้มีอายุจะนำสัตว์ที่ประกอบพิธีส่วนหนึ่ง มาแบ่งเพื่อขอบคุณจ้าวที่ ขอขมาจ้าวป่า และอีกส่วนที่เหลือจะนำมารับประทานร่วมกัน
การประกอบพิธีนี้จะกระทำทุกครั้งที่ทำการล่าสัตว์หรือจับสัตว์ใหญ่ๆ ได้เท่านั้น ชาวไทโส้ไม่ ประกอบพิธีกรรมนี้เมื่อจับสัตว์เล็กๆ ได้
นอกจากนี้ ชาวไทโส้มีความเชื่อว่า การประกอบพิธีกรรม นี้เพื่อขอบคุณจ้าวที่ ขอขมาเจ้าป่า เนื่องจาก เมื่อครั้งก่อน ผู้มีคาถาอาคม จะกลายร่างเป็นสัตว์ต่างๆ เพื่อท่องไปในป่ามากมาย การจับสัตว์ป่า จึงอาจไปล่วงเกินจ้าวป่า หรือจับสัตว์ที่กลายร่างมาได้
ก่อนจะนำสัตว์ที่จับได้กลับบ้าน จึงต้องทำพิธีกรรมนี้ก่อน ทุกครั้งไป
การเล่นสะลาหรือสะโลอ๊อของชาวไทโส้นี้ คนเฒ่าคนแก่เล่ากันต่อๆ มาถึงความสนุกสนานของรูปแบบเล่นที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
และยุคสมัย ประกอบกับบางคนเคยเล่นเมื่อครั้งยังเด็ก นายสนั่น ใยปางแก้ว อายุ 47 ปี ชาวไทโส้บ้านโคกม่วง ตำบลนาโพธิ์ เล่าว่าเคยเล่นสะลาหรือสะโลอ๊อนี้เมื่อครั้งยัง
เด็ก บางคนมสมุติตนเองเป็นควาย บางคนเป็นหมู คนไหนสมมุติตนเองเป็นหมู ก็จะร้องอี๊ดๆๆ คนไหนเป็นควาย ก็จะร้องแบบควาย แล้วฟ้อนวงกลมรอบต้นไม้ บ้างก็ปรบมือ บ้างคนก็ร้องรำทำเพลง สนุก ครื้นเครงกันไป
อุปกรณ์และความสำคัญ
- ฆ้อง หรือพะเนาะ ใช้ตีเพื่อแสดงถึงความยินดีรับขวัญ หรือต้อนรับเจ้านายใหญ่โตมาเยือน
- เหล็ก มีลักษณะเป็นเหล็กแบน หรือเศษมีดหัก สิ่วหัก พร้าหัก ดาบหัก แต่ต้องเป็นเหล็กกล้า ใช้สำหรับทำให้เกิดประกายไฟ
- หินหรือเศษไห ใช้คู่กับเหล็กกล้า สำหรับทำให้เกิดประกายไฟ
- ชามหรือถ้วยสำหรับใส่อาหาร
- กระบอกไม้ไผ่ยาวประมาณ 10 ซม. ใช้บรรจุปุยฝ้ายหรือปุยดอกงิ้ว
- ปุยดอกฝ้ายหรือปุยดอกงิ้ว ใช้เป็นชนวนติดไฟ บรรจุลงในกระบอกไม้ไผ่
- แห อุปกรณการจับปลา
- สุ่ม สานด้วยไม้ไผ่ ปิดด้วยใบไม้ใหญ่ ใช้สำหรับกำบังตนครอบตัวนายพราน
- หน้าไม้ ลูกดอก อุปกรณ์การล่าสัตว์
- มีด พร้า หรือของมีคม ใช้สำหรับตัดไม้ ฟันแทง สัตว์ป่า
- ฃ้อง สานด้วยไม้ไผ่ ใช้เก็บหรือบรรจุสัตว์ที่จับได้และเช่น ปลา เมื่อจับปลา กิ้งก่า เมื่อ ล่าสัตว์ในป่า เป็นต้น
- กระบอกไม้ไผ่ ไม้ไผ่ลำใหญ่ ใช้บรรจุน้ำดื่มขณะเดินป่า และจะใช้กระทุ้งดิน เมื่อประกอบพิธีกรรม
- ส่วนพิณ แคน และกระจับปี่ ในปัจจุบัน นำมาใช้ประกอบเพื่อความครื้นเครง สนุกสนาน ตามยุคของกระจับปี่และพิณ แคน
“ วัฒนธรรม ประเพณีไทย แต่โบราณ สืบทอดมากับ ลูกหลาน หาช้าไม่
เราจงมา ฟื้นฟู ประเพณีไทย สืบสานไว้ ให้คงอยู่ คู่แผ่นดิน ฯ“
**************************
ขอขอบคุณ
นายสนั่น ใยปางแก้ว และพี่น้องชาวบ้านโคกม่วง : ข้อมูล
นายประสงค์ เนืองทอง ศศ . บ. ผู้สัมภาษณ์/เรียบเรียง/สืบค้น